การบำบัดจิตไม่ใช่การที่นักจิตวิทยาไปแก้ปัญหา แต่เป็นการเผชิญหน้าระหว่างคนสองคน สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า พยายามที่จะเข้าให้ถึงความจริงของจิตใจที่เราต่างยอมรับได้ - Catherine Gildiner, Good Morning, Monster
ผมคิดว่าย่อหน้านี้ของหนังสือของแคเธอรีน กิลดิเนอร์ (Catherine Gildiner) มีความจริงเกี่ยวกับการบำบัดอยู่สามเรื่อง
เรื่องแรกคือ การร่วมมือกันแก้ปัญหา — นักจิตวิทยาต้องไม่หลงคิดว่าตัวเองคือผู้แก้ปัญหาให้ผู้มาบำบัด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่โยนความรับผิดชอบไปให้อีกฝ่ายว่าเขาต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงลำพัง ไม่อย่างนั้นเขาจะมาบำบัดไปเพื่ออะไร การบำบัดคือการร่วมมือกันระหว่างนักจิตวิทยากับผู้มาบำบัดเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างที่ตกลงร่วมกัน
เรื่องที่สองคือ ระยะเวลา — เวลาคือสิ่งสำคัญในการบำบัด แต่ปัญหาคือเราบอกไม่ได้แน่ชัดว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน หลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี อย่างดีที่สุดที่ผมบอกกับผู้มาบำบัดได้คือ “สักพักหนึ่ง” ถึงอย่างนั้น แม้จะบอกเวลาแน่ชัดไม่ได้ แต่เราพอจะบอกได้ว่าผู้มาบำบัดเข้าใกล้เป้าหมายของการบำบัดมากขึ้นหรือเปล่า
และเรื่องสุดท้ายคือ การยอมรับความจริง — แม้เราจะต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้เป็นดั่งใจต้องการ แต่สุดท้ายเราต้องยอมรับความจริงว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ แต่บางอย่างทำได้แค่ทำใจยอมรับว่ามันเป็นเช่นนั้น และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ก็ใช่ว่าเราจะควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้นได้
หนังสือ Good Morning, Monster (ฉบับแปลไทยชื่อว่า "แหลกยับ ไม่ดับสูญ") นำเสนอประสบการณ์การทำงานกับผู้มาบำบัดจำนวน 5 ราย ของแคเธอรีน กิลดิเนอร์ ซึ่งในแต่ละตอนมีความน่าสนใจในหลายแง่มุม ทั้งประเด็นปัญหาของผู้มาบำบัด แนวทางการบำบัดของผู้เขียน และการทบทวนตัวเองของผู้เขียน
แนะนำหนังสือเล่มนี้แก่ทุกท่านที่สนใจเรื่องการบำบัดครับ
แหล่งข้อมูล
Gildiner, C. (2023). Good morning, monster: A therapist shares five heroic stories of emotional recovery. St. Martin's Press.