top of page

ภาระหนักอึ้งที่เราแบกไว้คือความคาดหวังของเราเอง

  • รูปภาพนักเขียน: สมภพ แจ่มจันทร์
    สมภพ แจ่มจันทร์
  • 2 เม.ย.
  • ยาว 1 นาที

มีคำกล่าวอันเฉียบคมจาก โฮน จิยู-เคนเน็ตต์ อาจารย์เซนชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ ในหนังสือ Meditations for Mortals (ฉบับภาษาไทยคือ “สี่สัปดาห์ฉุกคิดเพราะชีวิตมีแค่สี่พันสัปดาห์”) ของโอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) ที่ผมเพิ่งได้อ่านเมื่อเร็ว ๆ นี้


อาจารย์เซนผู้นี้มักบอกศิษย์ว่า การสอนของเธอไม่ได้มุ่งทำให้ภาระของพวกเขาเบาลง หากแต่ช่วยให้ตระหนักว่ามันหนักหนาเพียงใด จนต้องตัดสินใจวางมันลงด้วยตนเอง คำกล่าวนี้สะท้อนหัวใจสำคัญของกระบวนการบำบัดได้อย่างน่าทึ่ง



ความทุกข์ใจที่ผู้คนแบกมาปรึกษานักจิตวิทยามักไม่ได้เกิดจากตัวปัญหาภายนอกเพียงอย่างเดียว ทว่าหยั่งรากลึกใน “ความคาดหวัง” ที่เรามีต่อโลก ต่อผู้อื่น และต่อตนเอง ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ความคาดหวังเหล่านี้เปรียบเสมือนสัมภาระหนักอึ้งที่เราแบกไว้โดยไม่รู้ตัว ยิ่งคาดหวังสูง หรือยิ่งยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ควรจะเป็นตามความคิดของเรามากเท่าไหร่ สัมภาระนั้นก็ยิ่งหนักหน่วงขึ้นเท่านั้น


กระบวนการบำบัดที่มีประสิทธิภาพไม่ใช่การมอบไม้กายสิทธิ์ หรือการเติมเชื้อไฟแห่งความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าหากเราพยายามมากพอ ปัญหาทุกอย่างจะหายไป หรือทุกสิ่งจะกลับกลายเป็นดั่งใจ แต่คือการช่วยให้ผู้มาบำบัดหันกลับมามองภาระที่แท้จริงที่พวกเขาแบกไว้ นั่นคือ ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกับความจริงของตนเอง


ผมอยากให้ลองนึกภาพผู้ที่ทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ที่ระหองระแหง พวกเขาอาจคาดหวังให้คนรักเปลี่ยนแปลงตัวเองในแบบที่ฝืนธรรมชาติ หรือคาดหวังความเข้าใจอย่างสมบูรณ์แบบตลอดเวลาโดยปราศจากความขัดแย้ง หรือในกรณีของผู้ที่รู้สึกผิดหวังกับหน้าที่การงาน ที่อาจยึดติดกับภาพความสำเร็จในอุดมคติที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง หรือคาดหวังว่างานจะต้องมอบความสุขและความหมายให้ได้ตลอดเวลา


หน้าที่ของนักบำบัดส่วนหนึ่งคือ การช่วยให้พวกเขาค่อย ๆ มองเห็นว่า ความคาดหวังเหล่านี้กำลังสร้างกำแพงบดบังความเป็นไปได้อื่น ๆ และบั่นทอนพลังใจของพวกเขาเองอย่างไร การตระหนักรู้ถึงความหนักหนาของความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของการวางมันลง


การยอมรับความจริงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนอย่างสิ้นหวัง หรือการหยุดพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่หมายถึงการมองเห็นสถานการณ์ตามที่เป็นจริง อย่างปราศจากอคติของความอยากและความไม่อยาก การยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งได้ โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึก หรือการกระทำของผู้อื่น (ที่จริงต่อให้เป็นความคิด ความรู้สึก หรือการกระทำของเราเอง เราก็ยังควบคุมแทบไม่ได้เลย!) การตระหนักรู้เช่นนี้เองที่เปรียบเสมือนการวางภาระที่หนักอึ้งลง


เมื่อเราสามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่เราควบคุมได้กับสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม และยอมรับความจริงข้อนี้ได้ ความทุกข์ที่เกิดจากช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริงจะบรรเทาลง พลังงานที่เคยใช้ไปกับการดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะถูกปลดปล่อยออกมาเพื่อนำไปใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือรับมือกับปัจจุบันขณะอย่างมีสติและสงบสุขยิ่งขึ้น


การตระหนักว่า ปัญหาที่แท้จริงซ่อนอยู่ในสายตาที่เราใช้มองโลก คือก้าวแรกสู่อิสรภาพภายในอย่างแท้จริง



สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

โนอิ้งมายด์เซ็นเตอร์
ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการส่งเสริมสุขภาวะ

ปรึกษาปัญหาชีวิตและปัญหาสุขภาพจิต
ติดต่อทำนัดได้ที่ 0654154417

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page