"เราควรทำสวนของเราต่อไป"
ประโยคที่เป็นบทสรุปของวรรณกรรมอมตะเรื่องก็องดิด (Candide) ของวอลแตร์ (Voltaire) แม้จะดูเรียบง่าย แต่กลับแฝงไว้ด้วยปรัชญาชีวิตอันลึกซึ้ง
หลายคนมัวแต่หมกมุ่นกับการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบที่เป็นนามธรรม วนเวียนอยู่กับการคิด แต่ไม่ลงมือทำ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยและโอกาสหลุดลอย เปรียบเสมือนชาวสวนผู้ที่ละเลยการดูแลสวนของตน ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไร้ซึ่งผลผลิต
ก็องดิดตัวละครเอกของเรื่อง ผ่านประสบการณ์มากมาย เผชิญกับความโหดร้ายและความสูญเสีย ตลอดทั้งเรื่องเขาเกิดคำถามนานัปการเกี่ยวกับชีวิต แต่ท้ายที่สุด เขาเลือกที่จะมุ่งความสนใจไปที่ "สวน" ของตนเอง ซึ่งเปรียบเสมือนการลงมือทำสิ่งที่ทำได้
"การทำสวน" ในเรื่องก็องดิดไม่ได้หมายถึงแค่การปลูกต้นไม้ แต่หมายถึงการใช้ชีวิต การทำงาน การมีความสัมพันธ์กับผู้คน และเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการลงมือทำเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นจริง
การมัวแต่ตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบแต่ไม่ยอมลงมือทำนั้น ไม่ต่างอะไรจากการยืนมองดูสวนของตนแล้วครุ่นคิดใคร่ครวญถึงแผนการที่ดีที่สุด หรือไม่ก็อุปสรรคที่จะต้องเจอ แต่สุดท้ายเมื่อไม่ลงมือทำอะไรกับสวน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือความว่างเปล่า
ในชีวิตจริง "สวน" ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน บางคนอาจมีสวนในรูปแบบของงาน ความสัมพันธ์ เป้าหมายชีวิต หรือความฝันที่อยากทำให้เป็นจริง ไม่ว่าสวนจะคืออะไร สิ่งสำคัญคือ การลงมือ "ทำสวนของเรา” เหมือนที่ก็องดิดกล่าวไว้
ดังนั้น อย่ามัวแต่ยืนมองสวน แต่จงลงมือทำสวน ผลลัพธ์ที่งอกงาม ย่อมเกิดขึ้นจากการลงมือ