คุณคิดยังไงกับการทำผิดพลาดครับ?
ในห้องปรึกษา ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ต่างจากห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์
เมื่อรับฟังเรื่องราวปัญหาของผู้มาปรึกษา นักจิตวิทยาจะต้องพยายามทำความเข้าใจและประมวลผลเพื่อสร้างแบบจำลองปัญหาของผู้มาปรึกษา ซึ่งเป็นการรวบรวมปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นและการคงอยู่ของปัญหา ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยขัดขวางการแก้ปัญหา ตลอดจนแนวทางที่จะจัดการกับปัจจัยเหล่านี้
ถามว่านักจิตวิทยาสามารถเข้าใจปัญหาของผู้มาปรึกษาได้ทันทีที่รับฟังหรือไม่ คำตอบคือ ไม่อย่างแน่นอน เป็นไปได้ว่านักจิตวิทยาอาจเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดเมื่อได้ฟังเรื่องราวของผู้มาปรึกษา แต่ความพยายามที่จะมองโลกจากสายตาของอีกฝ่ายเพื่อให้เห็นโลกในแบบที่เขาเห็น ดังที่ คาร์ล รอเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ เสนอไว้ คือสิ่งจำเป็นในกระบวนการช่วยเหลือ
แม้ว่าการทำเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือที่จริงไม่มีทางเป็นไปได้ด้วยซ้ำ ที่เราจะมองเห็นโลกของใครผ่านสายตาของเขาได้ เพราะเราแต่ละคนล้วนมีสายตาเฉพาะตัวในการมองโลก สิ่งที่เห็นจึงไม่ตรงกันเป็นธรรมดา ความเข้าใจผิดจึงเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ที่สำคัญคือ ความพยามยามที่จะเข้าใจอีกฝ่ายให้ได้มากที่สุด
ต่อให้เราไม่มีทางเข้าใจโลกของใครได้อย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยที่สุดการพยายามจะทำความเข้าใจปัญหาจากมุมมองของอีกฝ่าย ก็ช่วยให้เราเข้าใจโลกของพวกเขาได้มากกว่าการมองจากมุมของตัวเอง หรือการวิเคราะห์จากหลักการ ทฤษฎี หรือเกณฑ์การวินิจฉัย
ผมเชื่อเหมือนที่รอเจอร์สเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงของบุคคลในกระบวนการบำบัดไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ที่ถูกต้องตามหลักการและให้ข้อคิดเพื่อให้อีกฝ่ายนำไปปฏิบัติ แต่เกิดจากสัมพันธภาพที่ดีซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจ ซึ่งเอื้ออำนวยให้อีกฝ่ายค้นพบศักยภาพของตนเองในการรับมือปัญหา
แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ความผิดพลาดนั้นรอเราอยู่ไปตลอดกระบวนการ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้อ่านหนังสือของ คาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ผมชื่นชอบ เรื่อง There are places in the world where rules are less important than kindness: And other thoughts on physics, philosophy and the world
ในบทหนึ่ง คุณโรเวลลีเขียนถึงความผิดพลาดหลายอย่างของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ว่า ต่อให้ไอน์สไตน์จะทำผิดมามาก แต่ก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของสิ่งที่เขาค้นพบและไม่ได้ทำให้ความยิ่งใหญ่ของเขาลดน้อยลง
ผมขอคัดลอกข้อความที่คุณโรเวลลีเขียนไว้มาให้ทุกท่านอ่าน เพื่อเป็นบทสรุปของบทความนี้ครับ
“ความผิดพลาดและการเปลี่ยนความคิดของไอน์สไตน์ลดทอนความชื่นชมที่เรามีต่อเขาหรือไม่? ไม่เลย กลับกันด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สอนเราบางอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของสติปัญญาแท้จริง สติปัญญาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การยึดมั่นในความคิดเห็นของตนเอง แต่มันต้องการความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง กระทั่งการล้มเลิกความคิดเห็นเก่าๆ
“หากต้องการเข้าใจโลก คุณต้องมีความกล้าที่จะทดลองกับแนวคิดต่างๆ และไม่กลัวความล้มเหลว ต้องพร้อมหมั่นทบทวนปรับปรุงความคิดของคุณให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
“ไอน์สไตน์ผู้ที่ทำผิดพลาดมากกว่าใคร กลับเป็นคนเดียวกันกับไอน์สไตน์ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำความเข้าใจธรรมชาติได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้ผสานกันและจำเป็นต่อสติปัญญาที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ได้แก่ ความกล้าหาญในการคิด ความกล้ารับความเสี่ยง และการไร้ซึ่งความเชื่อมั่นแบบงมงายในแนวคิดเดิมๆ แม้จะเป็นความคิดของตัวเขาเองก็ตาม
“ความกล้าที่จะยอมผิดพลาด กล้าเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเอง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่หลายต่อหลายครั้ง คือหัวใจของการค้นพบ คือหนทางสู่ความเข้าใจ
“การเป็นฝ่ายถูกไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่ความพยายามที่จะเข้าใจต่างหากที่สำคัญ”
Comentarios