top of page

อดีตที่อยู่ตรงหน้ากับปัจจุบันที่มองไม่เห็น

รูปภาพนักเขียน: สมภพ แจ่มจันทร์สมภพ แจ่มจันทร์

ประกายแสงพร่างพราวของดวงดาวที่เรามองเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืน คืออดีตของดวงดาวที่เดินทางข้ามกาลเวลามาปรากฎในการรับรู้ของเราปัจจุบัน การมองแสงระยิบระยับของมวลหมู่ดาวคล้ายกับการพินิจภาพถ่ายใบเก่าของบุคคลอันเป็นที่รัก หาใช่ตัวเขาหรือเธอในตอนนี้


แสงใช้เวลาในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ไม่ต่างจากที่เราใช้เวลาเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ยิ่งระยะทางไกลห่างมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งใช้เวลาเดินทางนานขึ้นเท่านั้น แสงของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ใกล้โลกที่สุด ใช้เวลาเดินทางมายังโลกประมาณ 8 นาที ในขณะที่แสงของพร็อกซิมา เซ็นทอรี ดาวฤกษ์ลำดับถัดไป ใช้เวลา 4 ปีกว่า ๆ ก่อนที่จะมาปรากฎในกล้องโทรทัศน์ของนักดาราศาสตร์


เมื่อเราเงยหน้ามองท้องฟ้าในค่ำคืนนี้ ดาวบางดวงที่เรากำลังเฝ้าดูอาจไม่ได้ดำรงอยู่ในจักรวาลนี้อีกต่อไป หรือมันอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากภาพที่เราเห็นซึ่งเป็นเพียงอดีตของมัน หากดวงอาทิตย์ดับลงในตอนที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ คุณก็ยังคงมองเห็นมันไปอีก 8 นาที หรือกว่าที่เราจะรู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับกาแล็กซีแอนดรอเมดา ซึ่งอยู่ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรามากที่สุด ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2.5 ล้านปีแสง!


ผมรู้สึกตื่นเต้นมากตอนที่ทราบข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์นี้เป็นครั้งแรกเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นที่รู้น้อยแต่คิดว่าตัวเองรู้เยอะ มันไม่น่าทึ่งเหรอที่เราสามารถมองเห็นอดีตอันแสนไกลห่างเกินจินตนาการในขณะที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกันก็หมายความว่าเราไม่มีทางเห็นดวงดาวตามที่เป็นจริงในตอนนี้ได้เลย กระทั่งดวงจันทร์ที่ดูเหมือนจะอยู่ใกล้โลกมาก เราก็เห็นเพียงอดีตของมันเมื่อ 1.3 วินาทีก่อน!



เมื่อมานึก ๆ ดูแล้ว ไม่ใช่แค่ดวงดาวบนฟากฟ้าที่ไกลห่างเท่านั้นที่เรามองเห็นได้แค่อดีตของมัน แต่สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เราก็อาจมองเห็นเพียงอดีตของสิ่งนั้นเช่นกัน เมื่อมองดูคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวในตอนนี้ เราอาจเห็นเพียงอดีตของพวกเขาในความนึกคิดของเรา หาใช่ตัวตนที่เป็นจริงของคนเหล่านี้ในปัจจุบัน การมองดูตัวเองก็เช่นกัน เราอาจเห็นเพียงภาพของตัวตนที่ตกค้างมาจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นด้านที่พึงใจหรือไม่ชอบใจ แต่ไม่ได้อัพเดทข้อมูลว่าตัวเองในตอนนี้เป็นอย่างไร


หากการมองเห็นได้เพียงอดีตของดวงดาวมาจากข้อจำกัดในการเดินทางของแสงที่เดินทางได้เพียง 3 แสนกิโลเมตรต่อวินาทีท่ามกลางความเวิ้งว้างอันไพศาลของจักรวาล ก็คงเป็นข้อจำกัดในการเดินทางของความคิดของเรานั่นเองที่ตามไม่ทันและคลาดไปจากความจริงอยู่เสมอ ทำให้เรายังคงมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในแบบเดิม ทั้งที่ความจริงของสิ่งนั้นในตอนนี้อาจต่างจากที่เราคิด


สมองของเรามักใช้ทางลัดในการทำความเข้าใจโลกที่อยู่รอบตัวด้วยการสร้างแบบจำลองขึ้นมาจากข้อมูลชุดเดิม สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะร้ายหรือดีจึงเป็นโอกาสที่เราจะอัพเดทข้อมูลเพื่อปรับปรุงแบบจำลองให้สอดคล้องกับความจริงมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เตือนให้เราอัพเดทซอฟท์แวร์ตอนที่เราไม่พร้อม เราจึงกดเลื่อนมันออกไปก่อน และในที่สุดก็ลืมไปว่าต้องทำสิ่งนี้


เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเองต้องการอะไร ดูเหมือนความตั้งใจในตอนแรกจะกลายเป็นอดีตไม่ต่างจากแสงของดวงดาวไปแล้ว ส่วนความต้องการของผมในตอนนี้บอกว่าควรพอแค่นี้เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้อ่านมากเกินไป


ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ


 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page