top of page
รูปภาพนักเขียนสมภพ แจ่มจันทร์

สิ่งที่เราเชื่ออย่างสุดใจ อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป

อัปเดตเมื่อ 7 วันที่ผ่านมา

คุณผู้อ่านเคยรู้สึกว่าตัวเองจดจำอะไรบางอย่างได้อย่างแม่นยำ แต่มาพบภายหลังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้นหรือเปล่าครับ?


ความทรงจำของเราไม่ได้ทำงานเหมือนภาพถ่ายหรือภาพวิดีโอที่เราบันทึกไว้และเรียกขึ้นมาดูภายหลังโดยที่มันยังคงมีรายละเอียดเหมือนเดิมทุกประการ แต่ทุกครั้งที่เราพยายามระลึกความทรงจำ สมองจะประกอบสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ ทำให้สิ่งที่เราเชื่อว่าตัวเองจำได้นั้นอาจถูกบิดเบือนไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง


เอลิซาเบธ ลอฟตัส (Elisabeth Loftus) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องความทรงจำมาหลายสิบปีเสนอว่า เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจที่เราเชื่อว่าตัวเองจดจำได้อย่างแม่นยำนั้นอาจไม่เป็นความจริง


ความทรงจำที่เราระลึกขึ้นได้นั้นได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น มันอาจถูกหล่อหลอมโดยคำถามชี้นำหรือข้อมูลที่ผิด อาจมีคนใกล้ชิดที่เราไว้ใจเป็นผู้ปลูกฝังความทรงจำนั้นไว้ในตัวเรา หรือประสบการณ์ในภายหลังของเราอาจปรับเปลี่ยนความทรงจำนี้ อีกทั้งอารมณ์หรือความคิดของเราในปัจจุบันก็อาจส่งผลต่อความทรงจำเช่นกัน


กล่าวโดยรวบรัดคือ ความทรงจำที่คุณระลึกได้เป็นยังไง ขึ้นอยู่กับคุณระลึกถึงมันอย่างไร



การที่เหตุการณ์นั้นมีความสำคัญทางอารมณ์ต่อตัวเรา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเอง "จดจำ" มันได้อย่างชัดเจน ทั้งที่มันอาจไม่เป็นความจริงหรือเป็นความจริงเพียงบางส่วน


สมองของเราไม่ได้ทำหน้าที่บันทึกความจริง แต่มันเลือกจดจำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการอยู่รอด หากความทรงจำที่เลวร้ายทำให้เราหวาดกลัว ประโยชน์ของมันคือทำให้เราระมัดระวังสิ่งที่เป็นอันตราย แต่ปัญหาคือการอยู่รอดไม่เท่ากับการมีชีวิตที่ดี เพราะความทรงจำที่ถูกบิดเบือนนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่าง


เหตุการณ์เลวร้ายที่ถูกระลึกซ้ำ ๆ มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือหรือไม่ก็ตาม ก็อาจเป็นไปได้ว่ามันจะเลวร้ายมากกว่าที่เกิดขึ้นจริง ขึ้นอยู่กับปัจจัยในชีวิตของเราตอนที่ความทรงจำนี้ถูกระลึกขึ้นมา


ในการบำบัด มีแง่มุมที่นักบำบัดต้องทำงานกับความทรงจำที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้มาบำบัดอยู่พอสมควร การระลึกความทรงจำในชั่วโมงบำบัดคือโอกาสที่ผู้มาบำบัดจะพิจารณามันอย่างรอบด้านและประกอบสร้างความทรงจำขึ้นใหม่เพื่อให้เราเป็นอิสระจากอิทธิพลทางลบของความทรงจำเดิม


การเปลี่ยนแปลงความทรงจำไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราเห็นว่ามันมีผลเสียต่อชีวิตก็ตาม ถึงอย่างนั้นอย่างน้อยที่สุดก็เริ่มต้นจากการพยายามเปิดใจและบอกตัวเองด้วยคำพูดของเอลิซาเบธ ลอฟตัส ที่ว่า


สิ่งที่เราเชื่ออย่างสุดหัวใจ อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป

 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

โนอิ้งมายด์เซ็นเตอร์
ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการส่งเสริมสุขภาวะ

ปรึกษาปัญหาชีวิตและปัญหาสุขภาพจิต
ติดต่อทำนัดได้ที่ 0654154417

bottom of page