top of page

เราต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว: บทเรียนจากเอริค เทน ฮาก

รูปภาพนักเขียน: สมภพ แจ่มจันทร์สมภพ แจ่มจันทร์

ในการแข่งขันฟุตบอล การโดนยิงประตูนาทีสุดท้ายแล้วเป็นฝ่ายปราชัยนั้นยากที่ทำใจยอมรับ โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ทั้งที่ตัวเองน่าจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ในการแข่งขันเดียวกัน การพลิกจากการเป็นผู้แพ้กลับมาเป็นผู้ชนะนั้นน่าจดจำเป็นพิเศษ เหมือนที่เกิดกับการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอคัพของอังกฤษระหว่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับลิเวอร์พูล


เมื่อคืนนี้ใครเป็นแฟนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคงจะนอนหลับฝันดีที่ทีมรักเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลอย่างลิเวอร์พูล 4-3 หลังจากตามหลัง 2-3 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ส่วนแฟนลิเวอร์พูลคงจะเข้านอนด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน


แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แฟนบอลน่าจะภูมิใจที่ทั้งสองทีมเล่นฟุตบอลได้สนุกและดุเดือนสมชื่อแดงเดือด สู้กันตั้งแต่นาทีแรกจนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ สถานการณ์พลิกไปพลิกมาจนคาดเดาตอนจบไม่ได้ ทำให้การแข่งขันครั้งนี้กลายเป็นวันแดงเดือดที่น่าประทับใจที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา


เกริ่นมายืดยาว ผมไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องการแข่งขันระหว่างคู่ปรับในตำนาน แต่จะเขียนถึงประเด็นที่เอริก เทน ฮาก (Eric Ten Hag) ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูฯ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับคอบบี้ ไมนู (Kobbie Mainoo) ดาวรุ่งวัย 18 ปี ที่เล่นได้โดดเด่นมากในฤดูกาลนี้


สิ่งที่เทน​ ฮาก ให้สัมภาษณ์ ไม่เพียงเป็นเรื่องของฟุตบอล แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเราทุกคน



เมื่อนักข่าวพยายามเปรียบเทียบคอบบี้ ไมนู นักเตะดาวรุ่งจากอคาเดมีของสโมสร กับคลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ (Clarence Seedorf) อดีตกองกลางในตำนาน ผู้คว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนลึกได้ถึง 3 ครั้งกับ 3 สโมสร เอริค เทน ฮาก ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูฯ พูดถึงประเด็นนี้ว่า:


“ผมเห็นว่าไม่ควรเปรียบเทียบผู้เล่นคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งโดยเด็ดขาด เนื่องจาก คอบบี้ ไมนู รวมถึงนักเตะคนอื่นๆ ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่พวกเขาสร้างขึ้นมา อย่าเปรียบเทียบเขากับใครเด็ดขาด ทักษะของเขานั้นโดดเด่นและเป็นตัวของคอบบี้ ไมนู อย่างแท้จริง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับผู้เล่นคนอื่นๆ แน่นอนว่าเขาสามารถเรียนรู้จากผู้เล่นคนอื่นได้ โดยเฉพาะผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมอย่างคลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ แต่ท้ายที่สุด คอบบี้ ไมนู ก็คือ คอบบี้ ไมนู เขามีศักยภาพมหาศาลและผมเชื่อมั่นว่าเขาจะมีเส้นทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก”

ผมมองว่าไม่เพียงนักฟุตบอล แต่เราทุกคนต่างมี “เอกลักษณ์เฉพาะตัว” ที่เราสร้างขึ้นมาจากปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิตที่แตกต่างกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ชีวิตของแต่ละคนจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ตั้งแต่แรก เพราะมันคือชีวิตที่มีส่วนผสมเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เมื่อใดก็ตามที่เราเปรียบเทียบบางด้านของตัวเรากับใคร หรือเปรียบเทียบบางด้านของคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง เรากำลังมองข้ามเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเราและคนอื่น ๆ ไป


แม้เราจะมองว่าการเปรียบเทียบเฉพาะด้านเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะดูเหมือนเราจะเปรียบเทียบได้จริง ๆ ว่าใครวิ่งเร็วกว่า ได้คะแนนสอบมากกว่า หรือได้เงินเดือนมากกว่า และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็จริงตามนั้น แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง เราจะเห็นว่าความแตกต่างของผลลัพธ์นั้นมาจากความแตกต่างของปัจจัยตั้งต้นที่ไม่เหมือนกันตั้งแต่แรก ดังนั้นเราจึงไม่ควรเปรียบเทียบตัวตนของคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งเพื่อประเมินว่าใครดีกว่ากันอย่างแท้จริง


คอบบี้ ไมนู ไม่ใช่และไม่มีทางเป็นอย่าง คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ เหมือนที่คุณไม่ใช่คนที่คุณกำลังเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตของเขา ไมนูย่อมมีเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพของตนเอง ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่นเดียวกับคุณเองที่มีชีวิตของคุณ มีความสำเร็จหรือล้มเหลวในแบบฉบับของคุณรออยู่


 

จากบทสัมภาษณ์ของเอริค เทน ฮาก ผมนึกถึงหนังสือ Determined ของโรเบิร์ต ซาโปลสกี (Robert Sapolsky) นักประสาทต่อมไร้ท่อชาวอเมริกัน ที่กำลังอ่านอยู่ในช่วงนี้ เขายกตัวอย่างประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเพื่ออธิบายมุมมองแบบ determimistic โดยเล่าถึงสถานการณ์สมมติที่มีบัณฑิตจบใหม่ในพิธีรับปริญญากับพนักงานเก็บขยะคนหนึ่งในบริเวณนั้น


“ลองนึกเลือกบัณฑิตจบใหม่ขึ้นมาสักคน และจินตนาการว่ามีเวทมนตร์ที่ทำให้พนักงานเก็บขยะคนนี้ถือกำเนิดมาพร้อมกับรหัสพันธุกรรมเดียวกับบัณฑิตคนนั้น ไม่เพียงเท่านั้น ลองนึกภาพต่ออีกว่า พนักงานเก็บขยะเติบโตมาในครรภ์เดียวกันกับบัณฑิต และได้รับผลกระทบทางพันธุกรรมตลอดชีวิตเช่นกัน แถมยังมีวัยเด็กเช่นเดียวกับบัณฑิตซึ่งเต็มไปด้วยบทเรียนเปียโนและค่ำคืนที่ครอบครัวเล่นเกมส์ร่วมกัน แทนที่จะเป็นวัยเด็กที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามอย่างการอดมื้อเย็น ไร้ที่อยู่อาศัย หรือถูกเนรเทศออกนอกประเทศ
"ไม่เพียงแค่นั้น ลองคิดไปอีกขั้นว่า นอกจากพนักงานเก็บขยะจะได้รับประสบการณ์ในวัยเด็กของบัณฑิตแล้ว บัณฑิตเองก็ได้รับประสบการณ์ในวัยเด็กของพนักงานเก็บขยะด้วย โดยสลับเปลี่ยนทุกปัจจัยที่ทั้งสองคนไม่อาจควบคุมได้ หากทำได้เช่นนั้น คุณจะเห็นว่าคนที่สวมชุดครุยสำเร็จการศึกษาและคนที่เข็นเก็บถังขยะจะสลับตำแหน่งกัน”

ถ้าจะสรุปสิ่งที่คุณซาโปลสกีนำเสนอไว้ในหนังสือเล่นนี้ในแบบของผม ก็คือ คุณเป็นคุณอย่างที่เป็นคุณที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ในตอนนี้ ก็เพราะปัจจัยมากมายในชีวิตของคุณที่คุณไม่ได้เลือก รวมถึงสิ่งที่ดูเหมือนคุณเลือกได้แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้เลือกอีกนับไม่ถ้วน


คุณเป็นคุณ เช่นเดียวกับที่คนอื่นเป็นตัวเขา สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่คุณเหมือนใครหรือต่างจากใคร คุณดีกว่าหรือแย่กว่าพวกเขา แต่คือความเข้าใจว่าความเป็นตัวคุณส่งผลต่อชีวิตของคุณในตอนนี้อย่างไร และมันจะนำชีวิตของคุณไปยังทิศทางใด


 

กลับมาที่เรื่องฟุตบอลอีกครั้ง (แม้ผมจะบอกว่าไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องฟุตบอลก็ตาม)


ผมเชื่อว่าทุกทีมที่เข้าแข่งขันคงไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายแพ้ พวกเขาต่างเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดีเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะให้มากที่สุด แต่ผลการแข่งขันนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักเตะ ความเก่งกาจของผู้จัดการทีม ความร่ำรวยของเจ้าของสโมสร หรือความมุ่งมั่นของแฟนบอล เพียงเท่านั้น ในโลกของฟุตบอล (ที่จริงก็โลกของทุกอย่าง) มีปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้ซึ่งส่งผลต่อผลการแข่งขันอยู่พอสมควร


ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าผลการแข่งขันในค่ำคืนที่ผ่านมาที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดเอาชนะลิเวอร์พูลไปได้ 4-3 จะมาจากปัจจัยใด ในฐานะแฟนแมนฯ ยูฯ ผมขอดีใจสักหน่อยนะครับ ขออภัยแฟนบอลลิเวอร์พูลมา ณ ทีนี้


พบกันใหม่ในนัดต่อไปครับ


 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page