
คำถามที่พบบ่อย
FREQUENTLY ASKED QUESTIONS
การมารับบริการจากนักจิตวิทยาการปรึกษาต่างจากการปรึกษาครอบครัวและเพื่อนอย่างไร?
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของกระบวนการช่วยเหลือคือสัมพันธภาพ ไม่ว่าจะเป็นสัมพันธภาพรูปแบบใดก็ล้วนมีประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้ประสบกับปัญหาทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ครอบครัวและเพื่อนสามารถช่วยแก้ปัญหาในชีวิตของคนเราได้ แต่ก็ไม่เสมอไปเนื่องจากข้อจำกัดของรูปแบบสัมพันธภาพและความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการช่วยเหลือ แต่สัมพันธภาพระหว่างผู้รับบริการกับนักจิตวิทยามีความแตกต่างจากสัมพันธภาพทั่วไปตรงที่เป็นการช่วยเหลือโดยปราศจากอคติส่วนตัวที่มีต่อผู้รับบริการ นักจิตวิทยามีหน้าที่หลักคือช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความเข้าใจและแก้ไขปัญหาในชีวิตได้ โดยอาศัยกระบวนการทางการช่วยเหลือที่วางพื้นฐานอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
***
ผู้มารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต้องมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่?
ไม่จำเป็น ปัญหาทางสุขภาพจิตของคนเรามีหลากหลายระดับ ตั้งแต่ความเครียดทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการมีอาการผิดปกติต่าง ๆ แต่คุณไม่จำเป็นต้องรอให้ตนเองมีความผิดปกติใด ๆ เพียงแค่รู้สึกไม่สบายใจในการดำเนินชีวิต แล้วไม่อาจหาทางออกได้ด้วยตนเอง คุณก็สามารถเข้ารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาได้ ในบริการนี้ นักจิตวิทยาจะช่วยให้คุณเข้าใจปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่และพิจารณาทางเลือกในการรับมือกับปัญหาอย่างเหมาะสม
***
การมาปรึกษานักจิตวิทยาการปรึกษาต่างจากการไปรักษากับจิตแพทย์อย่างไร?
งานหลักของนักจิตวิทยาการปรึกษาคือ การช่วยเหลือด้วยการพูดคุยที่เรียกว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ส่วนงานหลักของจิตแพทย์คือ การวินิจฉัยโรคและการรักษาด้วยยา ทั้งสองวิชาชีพต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยให้ผู้คนรับมือกับปัญหาชีวิตอย่างเหมาะสมและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่อาศัยแนวทางการทำงานแตกต่างกัน นักจิตวิทยาการปรึกษามุ่งทำงานโดยตรงกับโจทย์หรือประเด็นปัญหาในชีวิตของผู้รับบริการ ส่วนจิตแพทย์มุ่งจัดการกับการทำงานที่ผิดปกติของสมองและร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้รับบริการ การเลือกรับบริการที่เหมาะกับลักษณะปัญหาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้คนเราจัดการกับปัญหาของตนได้ตรงจุด
***
ผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาทางจิตเวชอยู่ การรับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาร่วมด้วยจะมีประโยชน์หรือไม่?
มีประโยชน์ การรักษาด้วยยาคือการเยียวยาร่างกายให้กลับมาทำงานเป็นปกติ ส่วนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาคือการเยียวยาจิตใจผ่านการแก้ไขโจทย์หรือประเด็นปัญหาในชีวิตของผู้รับบริการ สำหรับบางคนการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวก็อาจเพียงพอ หากปัญหาหลักของคน ๆ นั้นอยู่ที่การทำงานที่ผิดปกติของสมองและร่างกาย เมื่ออาการดีขึ้น และคน ๆ นั้นมี "ต้นทุน" ชีวิตที่ดี เขาก็ย่อมจัดการกับปัญหาทางจิตใจให้คลี่คลายได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับบางคน แม้ร่างกายจะดีขึ้นด้วยยารักษาแล้ว แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขายังไม่สามารถรับมือกับประเด็นปัญหาในชีวิตได้ ในกรณีนี้ การปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะมีประโยชน์ในการช่วยให้เขาพัฒนา "ต้นทุน" ชีวิตในการรับมือกับปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญอยู่
