top of page

ในการบำบัด คุณจำเป็นต้องค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง

รูปภาพนักเขียน: สมภพ แจ่มจันทร์สมภพ แจ่มจันทร์

อัปเดตเมื่อ 7 พ.ย. 2567

ในหนังสือ The Zen of Therapy ผู้เขียนคือ มาร์ค เอปสไตน์ (Mark Epstein) ซึ่งศึกษาพุทธศาสนาและทำงานเป็นนักจิตบำบัดมามากกว่า 30 ปี กล่าวถึงการทำงานของเขากับผู้มาบำบัดคนหนึ่งว่า


ในฐานะนักบำบัด การพยายามตัดสินใจแทนผู้อื่น หรือแม้แต่การแอบชี้นำพวกเขาไปทางใดทางหนึ่ง ถือเป็นสิ่งล่อใจอย่างมาก แต่จริงๆ แล้วผมไม่รู้หรอกว่าอะไรจะดีที่สุดสำหรับเธอ แต่เชื่อมั่นว่าเธอจะคิดออกเอง การที่เธอหาคำตอบได้ด้วยตัวเองนั้นดีกว่ามาก

ผมเห็นด้วยกับเขาและมีประสบการณ์ตรงจากการทำงานของตัวเองในประเด็นดังกล่าวพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่บอกว่าการที่ผู้มาบำบัดหาคำตอบได้ด้วยตัวเองนั้นดีกว่าการให้คำแนะนำของนักบำบัดมาก


ที่จริงการใช้คำว่า “ดีกว่า” ก็อาจไม่ตรงนัก แต่ควรเป็นว่า ในกระบวนการบำบัด นักบำบัดจำเป็นต้องให้ผู้มาบำบัดค้นพบคำตอบที่เขาตามหาด้วยตัวเอง และการให้คำแนะนำเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง


ผมคิดว่าคำแนะนำที่นักบำบัดให้ได้อย่างมากที่สุดก็คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการบำบัด เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม หนังสือให้อ่านร่วมกับการมาบำบัด แนวทางบำบัดที่อาจเหมาะกับปัญหาของผู้มาบำบัดมากกว่า เป็นต้น



แต่ก็อย่างที่มาร์ค เอปสไตน์ กล่าวไว้ การตัดสินใจแทนหรือการชี้นำผู้มาบำบัดเป็นสิ่งล่อใจนักบำบัดเป็นอย่างยิ่ง ผมมองว่าที่มันน่าดึงดูดใจก็เพราะการทำเช่นนี้นั้นง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการทำงานเพื่อให้ผู้มาบำบัดค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง


นักบำบัดบางคนอาจใช้หลักการที่ตัวเองยึดถือในการวิเคราะห์ปัญหา และให้คำแนะนำที่ควรจะเป็นแก่ผู้มาบำบัดไปทำตาม แต่ก็เป็นไปได้ว่านักบำบัดบางคนอาจแนะนำจากความคิดเห็นหรือประสบการณ์ส่วนตัวที่อาจไม่สอดคล้องกับปัญหาจริงของผู้มาบำบัด โดยที่ไม่อิงกับหลักการอะไรเลย


คำแนะนำในการแก้ปัญหานั้นหาได้ไม่ยากครับ เราสามารถหาคำแนะนำในเรื่องใดก็ตามได้จากหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือผู้คนรอบตัว แต่การหาคำแนะนำที่ตรงประเด็นกับปัญหาอย่างแท้จริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเป็นนามธรรมและมีความเฉพาะตัวไปตามแต่ละบุคคล


หากการแนะนำสำเร็จรูปอย่างการปรับเปลี่ยนความคิด ทำใจปล่อยวาง หรือการเสนอให้ลองไปทำแบบนั้นแบบนี้ ช่วยให้ผู้มาบำบัดแก้ปัญหาได้จริง ผมคิดว่าเขาคงไม่จำเป็นต้องมาพบนักบำบัดตั้งแต่แรก


ถามว่าทำไมผู้มาบำบัดจึงต้องค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง ก็เพราะสิ่งสำคัญในการบำบัดไม่ใช่การได้รับคำตอบในการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นการค้นพบศักยภาพในการค้นหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง


ในมุมมองของผม นักบำบัดที่ดี ไม่ว่าจะใช้แนวทางการบำบัดใด คือผู้ที่เอื้ออำนวยให้ผู้มาบำบัดทบทวนตัวเองและปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิต จนเกิดความเข้าใจมากพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าควรแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อย่างไร


การจะทำเช่นนี้ได้ นักบำบัดจำเป็นต้องเชื่อมั่นก่อนว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพียงแต่พวกเขาต้องการปัจจัยที่เหมาะสมที่จะช่วยให้ค้นพบศักยภาพดังกล่าว


หากนักบำบัดไม่เชื่อมั่นในตัวผู้มาบำบัดตั้งแต่แรกเสียแล้ว การบำบัดที่เหลือก็ไร้ความหมาย


 

แหล่งข้อมูล

  • Epstein, M. (2023). The zen of therapy: Uncovering a hidden kindness in life. Penguin Books.

 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

โนอิ้งมายด์เซ็นเตอร์
ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการส่งเสริมสุขภาวะ

ปรึกษาปัญหาชีวิตและปัญหาสุขภาพจิต
ติดต่อทำนัดได้ที่ 0654154417

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page