top of page

เท่าทันเจตนาเพื่อดูแลความสัมพันธ์

รูปภาพนักเขียน: กวีไกร ม่วงศิริกวีไกร ม่วงศิริ

อัปเดตเมื่อ 31 พ.ค. 2567

ไม่แน่ใจว่ามีใครนึกสงสัยเหมือนผมไหมว่าทำไมความตั้งใจที่จะทำร้ายนั้นกลับเห็นผลได้มากกว่าความตั้งใจที่จะดูแลใครสักคน


ทุกคนคงเห็นตรงกันว่าแทบไม่มีครั้งไหนที่อีกฝ่ายจะรู้สึกดีกับการทำร้ายของเรา แต่ที่น่าแปลกคือหลายต่อหลายครั้งความหวังดีกับสิ่งที่เราเชื่อว่าเรากำลังพยายามช่วยเหลือดูแลอีกฝ่ายอยู่กลับให้ผลตรงข้าม


อะไรกันนะที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ผมมีมุมมองมาแบ่งปันครับ



เมื่อเราอยากให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดเราจึงลงมือทำร้ายจิตใจพวกเขา และเมื่อเราอยากให้อีกฝ่ายรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเราจึงลงมือทะนุถนอมด้วยความอ่อนโยน หากพิจารณาการกระทำเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ประเมินแยกอันไหนดีอันไหนร้าย สองอย่างนี้ก็เหมือน ๆ กัน คือเป็นการกระทำไปตามเจตนาของเรา


ทีนี้ เจตนาทำร้ายมักจะไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเป็นการตอบสนองต่อความรู้สึกของตัวเราที่มีต่อบุคคลและบริบทสถานการณ์โดยตรง เช่น เมื่อเราโกรธหรือกลัวบุคคลหรือสิ่งใดเราก็ทำร้ายสิ่งนั้นเพื่อบรรเทาความโกรธและกลัวของตัวเรา การกระทำจึงสอดคล้องกับเจตนา


ในขณะที่เจตนาที่จะปกป้องดูแลนั้นเป็นการตอบสนองความรู้สึกรักและห่วงใย (หรือแม้แต่หวงแหน) แต่เมื่อเรามีความรู้สึกเหล่านี้ต่อสิ่งใด มันมักมีความรู้สึกที่ท้าทายพ่วงตามมาด้วย เช่น ความวิตกกังวล ความคับข้องใจ ความไม่สบายใจ ความโกรธ การตอบสนองความรู้สึกเหล่านี้ย่อมสร้างเจตนาขึ้นมาใหม่ แล้วเราก็กระทำไปตามเจตนานั้น ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเจตนาแรกที่ตั้งใจจะปกป้องดูแลก็ได้


พ่อแม่ที่ปรารถนาดีอยากให้ลูกมีอนาคตที่เติบโตก้าวหน้า มีเจตนาที่จะดูแลส่งเสริมเส้นทางเติบโตของลูก ด้วยกังวลว่าลูกจะไม่มีอนาคตที่ดีเมื่อเห็นลูกไม่ตั้งใจเรียนและไม่เชื่อฟังจึงโกรธ ดุด่า และทำโทษโดยหวังว่าลูกจะเปลี่ยนพฤติกรรมมาตั้งใจเรียน ความกังวลของพ่อแม่จะได้คลี่คลายเสียที


บุคคลหนึ่งที่ห่วงใยเพื่อนของเขาที่กำลังเจ็บปวดกับความสัมพันธ์ toxic ปรารถนาให้เพื่อนไม่ต้องจมและทนทุกข์ แต่เพื่อนกลับไม่มีท่าทีที่จะเลิกราแต่ก็ยังโอดครวญถึงความเจ็บช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า บุคคลนั้นเผชิญกับความคับข้องใจ โกรธ และรำคาญ จึงบีบบังคับให้เพื่อนตัดสินใจว่าจะเลือกเขาหรือแฟน เพื่อหวังว่าเพื่อนจะตัดสินใจก้าวออกมาหรือไม่ก็ไม่ต้องมาบ่นระบายให้รำคาญใจกันอีก


จากตัวอย่างที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น ความรู้สึกและเจตนาก็ซับซ้อนตามไปด้วย หากเราไม่ทันตระหนักความรู้สึกและเจตนาของตัวเองเราก็อาจเข้าใจไปว่าการกระทำสุดท้ายของเราเป็นไปเพราะเจตนาแรก เป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ที่ฉันทำแบบนี้กับเธอก็เพราะว่าฉันหวังดี” ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะเข้าใจและสัมผัสถึงความหวังดีแบบนั้นได้


หากเราปรารถนาที่จะปกป้องดูแลใครสักคน และอยากให้เขาได้รับรู้ถึงมันหรืออย่างน้อยก็ไม่รับรู้ไปในทางตรงกันข้าม การเรียนรู้ที่จะทบทวนเพื่อตระหนักเท่าทันความรู้สึกและเจตนาของตนเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เราได้มีทางเลือกว่าเราจะตอบสนองต่อความรู้สึกของตัวเองด้วยเจตนาอื่นใดได้บ้างที่จะไม่ส่งผลกระทบต่ออีกฝ่ายจนเกินไป เราอาจปกปักษ์รักษาเขาไม่ได้อย่างบริบูรณ์ แต่เรารักษาความสัมพันธ์ระหว่างเราและเขาได้เสมอและนั่นอาจเป็นสิ่งจำเป็นในวันเวลาที่เขาต้องการใครสักคนเพื่อความอุ่นใจและปลอดภัย


การตอบสนองนั้นมีความเป็นไปได้ที่หลากหลายที่คงไม่สามารถบรรยายได้หมดแต่พอจะยกตัวอย่างคร่าว ๆ ได้ เช่น อาจจะเป็นการดูแลผ่อนคลายให้บรรเทาลง การทำความเข้าใจที่จะยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ หรือการสื่อสารความรู้สึกอย่างจริงใจเพื่อขอความร่วมมือ ฯลฯ ตามแต่บริบท


ทั้งนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่จะกำหนดบังคับเราได้ว่าจะต้องมีความรู้สึก เจตนา และกระทำสิ่งดี ๆ แก่ผู้อื่น แต่หากเราอยากทำอะไรที่สอดคล้องกับเจตนาที่จะดูแลใครสักคน การเรียนรู้ในเรื่องเท่าทันตัวเองก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


 

กวีไกร ม่วงศิริ
นักจิตวิทยาการปรึกษา

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page