top of page
รูปภาพนักเขียนสมภพ แจ่มจันทร์

เติมบัญชีเงินฝากในใจเพื่อรับมือความเครียดในชีวิต

อัปเดตเมื่อ 24 พ.ค.

ความเครียดทางจิตใจของคนเราไม่ได้เป็นผลมาจากสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นความเครียดโดยตรง แต่มาจาก "ทรัพยากร" ที่เรามีในการรับมือกับความเครียด


ประเภทหนึ่งของ "ทรัพยากร" หมายถึงสิ่งที่เรามีอยู่นอกตัว เช่น ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ คนรอบข้างที่คอยสนับสนุน ฯลฯ ส่วนอีกประเภทหนึ่งหมายถึงสิ่งที่เรามีอยู่ในตัว เช่น ทัศนคติ วิธีคิด วิธีรับมือปัญหา ฯลฯ


สมมติว่าคุณถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไปหนึ่งแสนบาท หากคุณมีเงินในบัญชีหนึ่งร้อยล้านบาท คุณคงไม่เครียดเท่าคนที่เงินทั้งบัญชีมีเพียงเท่านั้น ในกรณีนี้เงินคือทรัพยากรภายนอกที่ช่วยรับมือความเครียด


ในทางกลับกัน สมมติว่าคุณมีเงินในบัญชีหนึ่งแสนบาทและถูกหลอกเอาเงินไปทั้งหมด หากคุณฝึกจิตสม่ำเสมอ คุณก็อาจทำใจปล่อยวางความทุกข์จากเรื่องนี้ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ในกรณีนี้ความสามารถในการยอมรับความจริงคือทรัพยากรภายในที่ช่วยรับมือความเครียด


ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งมองพระอาทิตย์ขึ้น

จอน คาบัท-ซินน์ (Jon Kabat-Zinn) ผู้ริเริ่มการบำบัดความเครียดด้วยสติ (Mindfulness-Based Stress Reduction) เปรียบเปรยทรัพยากรภายในของคนเราว่าเป็นเหมือน “บัญชีเงินฝาก” ที่เราสะสมไว้สำหรับรับมือกับความเครียดที่เลี่ยงไม่ได้


จากคำเปรียบเปรยนี้ ผมนึกภาพตามว่า ความเครียดที่เราต้องพบเจอในชีวิตคงเปรียบเสมือนรายจ่ายที่เราจำเป็นต้องจ่าย หากเรามีเงินในบัญชีมากพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลมากนักกับรายจ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเงินในบัญชีของเรามีจำกัด เราก็คงใช้ชีวิตด้วยความไม่มั่นคง และวันหนึ่งเราก็อาจถังแตกเมื่อค่าใช้จ่ายมากเกินเงินในบัญชีที่เรามี


ในมุมมองของจอห์น คาบัท-ซินน์ หนทางหนึ่งในการเติมเงินเข้าไปในบัญชีเงินฝากก็คือ การฝึกสติ จากประสบการณ์ของเขาเองและผู้คนมากมายที่เข้ารับการรับการฝึกในโปรแกรมของเขา การฝึกสติคือสิ่งสำคัญมาก ๆ ที่ช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติและความท้าทายในชีวิตไปได้ ดังที่เขากล่าวไว้ว่า


“เมื่อคุณได้ฝึกฝนอยู่พักหนึ่งแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะคิดว่าคุณจะจัดการกับชีวิตได้อย่างไรโดยปราศจากการฝึกสติ - มันทรงพลังขนาดนั้น และละเอียดอ่อนขนาดนั้น เพราะในขณะเดียวกัน มันไม่ได้ดูเหมือนเรื่อง ‘ที่ต้องทุ่มเทแรง’ อะไร สติคือทั้งสิ่งที่ไม่พิเศษอะไรเลย และพิเศษอย่างไม่น่าเชื่อ คือทั้งธรรมดาอย่างที่สุดและแปลกใหม่อย่างสมบูรณ์ ในเวลาเดียวกัน”

ผมแนะนำท่านที่สนใจให้อ่านหนังสือ Full Catastrophe Living ของเขา ซึ่งนำเสนอแนวทางการฝึกสติเพื่อลดความเครียดเอาไว้อย่างละเอียด แม้จะตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1990 หรือ 30 กว่าปีมาแล้ว แต่เนื้อหาก็ยังทันสมัยอยู่


แม้ผมจะเห็นด้วยว่าการเติมเงินในบัญชีเงินฝาก หรือการพัฒนาทรัพยากรภายในเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการฝึกสติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายแต่มีประโยชน์มหาศาล แต่ถึงอย่างนั้น ผมไม่ได้อยากสรุปแบบโลกสวยว่า ถ้างั้นเรามาพัฒนาทรัพยากรภายในให้มาก ๆ กันเถอะ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในการควบคุมของเรามากกว่าการไปตามหาทรัพยากรภายนอก


ผมอยากชวนให้เรายอมรับความจริงว่า ความเครียดของเราขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกต่างก็มีผลต่อความเครียด เพื่อให้เราไม่เข้าใจผิดว่าการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะลดความเครียดในชีวิต


อีกทั้งผมยังอยากชวนมองว่า ความเครียดไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ความเครียดของคน ๆ หนึ่งเป็นภาพสะท้อนสิ่งแวดล้อมรอบตัวและสังคมที่เขาอยู่ มากกว่าการคิดไม่ได้หรือจัดการปัญหาไม่เป็นของคน ๆ นั้น


การมุ่งฝึกจิตฝึกใจโดยละเลยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อความเครียดก็เหมือนเราหลับตาข้างหนึ่งและเห็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ส่วนการมุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดยไม่พยายามพัฒนาจิตใจของตนเองเลยก็ให้ผลไม่ต่างกัน


ผมเชื่อว่าแม้เราแต่ละคนจะเติบโตมาด้วยทรัพยากรในการรับมือกับความเครียดไม่เท่ากัน แต่เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็น “ทรัพยากรส่วนรวม” ของสังคม ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังที่มี หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ทำตัวให้เป็น “ตัวกระตุ้นความเครียด”​ ของผู้อื่น


 

สมภพ แจ่มจันทร์
นักจิตวิทยาการปรึกษา

Comments


bottom of page