“เราคือใคร?”
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับหลักคิดที่บอกให้เราทำความรู้จักตัวเองว่าเราคือใคร เป็นคนแบบไหน ให้คุณค่าหรือความหมายกับอะไร เพื่อให้เรามีความมั่นคงหนักแน่นกับตัวตน ไม่หวั่นไหวสั่นคลอนโดยง่ายไปกับปัญหาที่มากระทบใจ
ทั้งนี้ในอีกแง่มุม “ตัวตน” ของเรานั้นไม่ได้ตายตัวเสมอไป มันแปรผันไปตามประสบการณ์ตรงหน้า โลกที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยต่างมีผลกับความแปรผันนี้ เช่น เราเป็นลูกเมื่ออยู่กับพ่อแม่ เราเป็นคนรักเมื่ออยู่กับคู่ เราเป็นหัวหน้าเมื่ออยู่กับลูกน้อง และตัวตนที่ต่างกันอาจมีเงื่อนไขที่กำหนดคุณค่าแตกต่างกันไป ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือขัดแย้งกันเองก็ได้
หรือในความสอดคล้องก็อาจขัดแย้งกันได้อีก เช่น เมื่อคุณค่าของทุกตัวตนคือความทุ่มเท แต่เราไม่สามารถทุ่มเทให้กับทุกความสัมพันธ์ได้ ย่อมมีตัวตนที่บรรลุเงื่อนไขและตัวตนที่สั่นคลอน (หรืออาจสั่นคลอนมันไปทั้งหมดเลยก็ได้) เพราะไม่สามารถเป็นได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วยข้อจำกัดในชีวิต
เมื่อเราประสบความรู้สึกสั่นคลอนของตัวตน การพยายามหาคำตอบว่า ”เราคือใคร“ อาจพาเราไปพบตัวตนที่อิงกับประสบการณ์ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ตรงจุดกับที่เป็นปัญหา เช่น เรากำลังผิดหวังในความรัก แต่ไปทบทวนตัวตนของการเป็นลูกหรือเพื่อน ซึ่งพาเราออกห่างไปจากการรู้จักตัวตนในบริบทที่กำลังเป็นปัญหา
แต่หากเราถามตัวเองว่า ”ประสบการณ์ตรงหน้าที่เป็นปัญหา กำลังทำให้เรากลายเป็นใคร?“ เราอาจได้เข้าใจมากขึ้น เช่น เรากำลังรับรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่เป็นที่ต้องการ เป็นคนที่โดดเดี่ยว เป็นคนที่ไม่คู่ควรจะมีความรักที่ดี ซึ่งจะเชื่อมโยงความสั่นคลอนเจ็บปวดกับตัวตนในปัจจุบันได้ชัดเจนมากขึ้น
การได้เห็นถึงสิ่งที่เราปฏิเสธที่จะเป็น เห็นถึงความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นก้าวแรก ๆ ที่สำคัญในการรับมือจัดการกับปัญหา ส่องประกายเป็นทางเลือกที่ชัดขึ้นว่าจะตอบสนองความต้องการแบบไหน หรือหาทางยอมรับอะไร เพื่อคลี่คลายความทุกข์ทางใจให้สงบลง