ในขณะที่นักบำบัดให้ความสำคัญกับการเข้าใจผู้รับการบำบัดอย่างลึกซึ้งเพื่อไขปริศนาหาคำอธิบายปัญหาความทุกข์ใจของผู้รับการบำบัด ตัวกระบวนการทำความเข้าใจนั้นมีความสำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน เพราะมันต้องอาศัยทั้งความใส่ใจรับฟัง ยอมรับ ไม่ตัดสิน มีความจริงใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่วางใจได้ และที่สำคัญคือกระบวนการนี้โดยตัวมันเองก็มีผลต่อการบำบัดแล้ว
กระบวนการทำความเข้าใจดังกล่าวนั้นเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักบำบัดและผู้รับการบำบัด เกิดขึ้นเป็น “สัมพันธภาพเชิงบำบัด” (therapeutic relationship) ที่ส่งผลให้ผู้มีความทุกข์ใจสามารถแสดงออกได้ทั้งคำพูด ท่าที และความรู้สึกอย่างเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องกังวลถึงกรอบของความถูกผิด จากการที่มีคนหนึ่งที่อยู่ตรงนั้นซึ่งสามารถรับสารเหล่านั้นได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ร่วมรู้สึก ไม่ตัดสิน ไม่เสแสร้ง ด้วยความใส่ใจจดจ่อแบบยกให้เขาเป็นศูนย์กลางของการสนทนา
ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ใจของผู้รับการบำบัดก็จะค่อย ๆ หลุดออกจากพันธนาการของเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รัดรึงชีวิตของเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำพาเขามาพบนักบำบัด ดังนั้นในแง่มุมหนึ่งการบำบัดเยียวยาก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับก้าวถัด ๆ ไปของการบำบัด
เฉกเช่นที่เออร์วิน ยาลอม (Irvin Yalom) ได้กล่าวไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ The Gift of Therapy ว่าผู้รับการบำบัดให้ค่ากับท่าทีของนักบำบัดในสัมพันธภาพระหว่างพวกเขา โดยสัมพันธภาพเชิงบำบัดนี้คือสื่อนำ (agent) ที่แท้จริงของความเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา และความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ (insight) ที่เราเชื่อกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบำบัด
ทั้งนี้ คำว่า “บำบัด” อาจทำให้เรื่องสัมพันธภาพนี้ดูเป็นเรื่องไกลตัวจากชีวิตของเราทุกคนแล้วจำกัดไว้สำหรับเฉพาะนักบำบัดกับห้องทำงานของพวกเขา แต่ในมุมมองของผม เราสามารถปรับใช้เรื่องนี้กับความสัมพันธ์ในชีวิตจริงได้อย่างไม่มีอะไรขัดแย้งเลย
ในการช่วยเหลือใครสักคนที่กำลังมีความทุกข์ทางใจ ผู้ช่วยเหลือมักให้คุณค่ากับการทำความเข้าใจเรื่องราวปัญหา การคิดเชิงเหตุผล และแนวทางหรือวิธีการแก้ไข ในขณะที่ผู้ประสบปัญหาต้องการคนที่พวกเขาอยู่ด้วยแล้วรู้สึกปลอดภัย เป็นคนที่รับฟังอย่างใส่ใจ และไม่ตัดสิน
แน่นอนว่าการเคียงข้าง รับฟัง ไม่ตัดสินเพียงเท่านั้นไม่ได้มุ่งสู่การแก้ปัญหา แต่การสนใจเฉพาะเรื่องราว ความคิดเชิงเหตุผล และวิธีการแก้ปัญหาก็อาจไม่ได้นำพาไปสู่ผลลัพธ์ของการช่วยเหลือได้เช่นกัน
ภารกิจการช่วยเหลือจึงเป็นบรรยากาศของสัมพันธภาพเชิงบำบัดที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อมต่อกันทั้งทางความคิดในการทำความเข้าใจเชิงเหตุผลและความรู้สึกที่มีความอบอุ่นปลอดภัย โดยไม่ได้รีบร้อนจนสร้างความขัดแย้งกดดันหรือโอบอุ้มรับฟังอย่างเลื่อนลอย
ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สัมพันธภาพเชิงบำบัดจึงเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกความสัมพันธ์ ไม่ได้จำกัดอยู่กับเฉพาะบริการบำบัดและห้องปรึกษา
댓글