“เหมือนเช่นที่เด็กชายตัวน้อยรู้อยู่ก่อนแล้ว”
เช้านี้ผมอ่านนิทานที่เกี่ยวกับเด็กชายที่ตั้งใจจะปลูกแคร์รอต โดยคนรอบตัวพร่ำบอกว่าเมล็ดแคร์รอตที่เขาตั้งใจปลูกนั้นจะไม่ขึ้นมาหรอก อีกทั้งเขายังต้องพบว่าต้นแคร์รอตไม่งอกขึ้นมาเลยแม้เขาจะเฝ้าถอนวัชพืชและรดน้ำไปทุกวันก็ตาม
สำหรับผม ในตอนจบแคร์รอตจะงอกเงยขึ้นมาหรือไม่นั้นยังไม่สำคัญเท่ากับภาพเด็กชายที่มีท่าทีสงบนิ่ง ไม่ได้หวั่นไหวไปกับคำพูดของคนรอบตัว หรือปรากฏการณ์ที่แคร์รอตไม่งอกออกมาจากผืนดิน โดยความสงบนิ่งนี้น่าจะมาจากประโยคที่กล่าวข้างต้นว่า “เหมือนเช่นที่เด็กชายตัวน้อยรู้อยู่ก่อนแล้ว” ว่าแต่ว่าสิ่งที่เด็กชายรู้มันคืออะไรกันนะ
ผมลองพิจารณาถึงสิ่งที่นิทานเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึง แต่เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยครั้งจากการได้อยู่ร่วมปรึกษาปัญหากับผู้คนว่าอะไรบ้างนะที่มีส่วนเอื้ออำนวยให้พวกเขาสงบนิ่งได้ขณะเผชิญสิ่งที่มาท้าทายใจให้หวั่นไหวเหมือนกับที่เด็กชายเจอ
รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร
เมื่อเรารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เรามีโอกาสที่จะเห็นหนทางว่าจะต้องลงมือทำอะไรได้ชัดเจนขึ้น และไม่สงสัยในสิ่งที่ตั้งใจจะลงมือทำ เมื่อเด็กชายต้องการแคร์รอต สิ่งที่เขาลงมือทำก็ย่อมเป็นการปลูกแคร์รอต
รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร
เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการอย่างไร เราจึงเชื่อมั่นและมีความหวังในสิ่งที่ทำอยู่ เด็กชายรู้ว่าการหว่านเมล็ด รดน้ำ และกำจัดวัชพืชเป็นสิ่งที่นำไปสู่การได้แคร์รอต และการหยุดทำสิ่งเหล่านี้จะปิดโอกาสที่จะบรรลุในสิ่งที่เขาต้องการ
รู้ว่าสิ่งต่าง ๆ มีกระบวนการของมัน
ณ วันที่ผลลัพธ์ยังไม่ปรากฏชัด การรู้ว่าทุกอย่างกำลังดำเนินอยู่ในกระบวนการของมันช่วยให้เราวางใจกับสิ่งที่ดำเนินอยู่ได้ จิตใจไม่ร้อนรน และทำสิ่งนั้นไปได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่เด็กน้อยไม่ได้หวั่นไหวหรือล้มเลิกแม้ผืนดินจะดูราบเรียบไม่มีลำต้นแทงทะลุผืนดินขึ้นมา
รู้ว่าตัวเราเป็นเพียงปัจจัยเดียว
ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นไม่ได้อยู่ที่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง และเราก็เป็นเพียงปัจจัยเดียวในสิ่งนี้ ดีที่สุดที่เราพอจะทำได้คือการเป็นปัจจัยหนึ่งเดียวนี้ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การวางตัวและวางใจเช่นนี้ช่วยให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่และมีความหวัง แม้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเกิดผลหรือไม่ แม้กระบวนการจะยังไม่ออกผลให้เห็นแต่เด็กชายรู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาจะทำได้คือการทำปัจจัยส่วนของตัวเองให้ครบถ้วนนั่นเอง
รู้ว่าไม่มีอะไรสูญเปล่า
ไม่ว่าแคร์รอตจะเติบโตขึ้นมาหรือไม่ แต่มีอะไรบางอย่างในเด็กชายคนนี้เติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการได้พยายามในสิ่งที่ตั้งใจ ได้ทดลองและเรียนรู้ บ่มเพาะวินัยและความเพียร ฯลฯ เพราะกระบวนการที่ดำเนินอยู่นั้นไม่ได้มีเฉพาะแคร์รอตแต่หากรวมถึงเด็กชายด้วย
เมื่อรู้ถึงสิ่งเหล่านี้ แคร์รอตจะงอกเงยขึ้นมาหรือไม่นั้นยังคงมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่งที่เด็กชายมุ่งหวัง แต่ความท้าทายต่าง ๆ ตลอดเส้นทางของการลงมือและความกังวลถึงโอกาสที่จะผิดหวังจะมีอิทธิพลและผลกระทบกับเขาน้อยลง
ส่วนตอนจบของนิทานเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร สามารถหาอ่านกันได้ในนิทานเรื่อง “เมล็ดแคร์รอต” เรื่องโดย รูธ เคราส์ แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ ครับ
กวีไกร ม่วงศิริ
นักจิตวิทยาการปรึกษา
Comments