top of page

ทำไมโครงการส่งเสริมสุขภาวะในที่ทำงานจึงมักล้มเหลว

รูปภาพนักเขียน: ธารีวรรณ เทียมเมฆธารีวรรณ เทียมเมฆ

การลงทุนด้านสุขภาวะขององค์กรทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่าจะสูงถึง 94.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2569

 

แต่คำถามสำคัญคือ การลงทุนเหล่านี้สร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่าจริงหรือไม่?

 

ในเมื่อปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายองค์กรทั่วโลก ในปี 2024 Harvard Business Review ได้ตีพิมพ์บทความของ Jazz Croft, Acacia Parks และ Ashley Whillans ซึ่งทำการสำรวจสาเหตุที่โครงการส่งเสริมสุขภาวะจำนวนมากไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นเฉพาะบุคคล และนำเสนอแนวทางแก้ไขเชิงระบบที่ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัย ซึ่งจะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาวะของพนักงาน และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่ยั่งยืน

 

ในบทความนี้ ดิฉันจะสรุปสาระสำคัญที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในการลงทุนด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงานและต่อองค์กรอย่างแท้จริง



โครงการส่งเสริมสุขภาวะในที่ทำงานมักไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาระดับบุคคลมากกว่าที่จะจัดการกับปัญหาระดับระบบภายในองค์กร แม้จะมีการลงทุนจำนวนมากในโครงการเหล่านี้ แต่ภาวะหมดไฟ และปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานยังคงเพิ่มสูงขึ้น

 

สาเหตุที่แนวทางการแก้ปัญหาระดับบุคคลไม่เพียงพอ

  • มองข้ามสาเหตุที่แท้จริง: การแก้ปัญหาระดับบุคคลมักละเลยปัญหาระดับระบบ ซึ่งนำไปสู่ภาวะ "Carewashing" (การแสดงความใส่ใจแบบผิวเผิน) ที่พนักงานมองว่าเป็นโครงการที่ไม่จริงใจ และอาจส่งผลเสียต่อความผูกพันและสุขภาพจิตของพนักงาน ตัวอย่างเช่น พนักงานที่เครียดจากปริมาณงานที่มากเกินไป อาจรู้สึกสิ้นหวังหากแอปพลิเคชันฝึกสมาธิไม่สามารถช่วยบรรเทาความเครียดได้ เพราะปริมาณงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

  • ความไม่สอดคล้อง: พนักงานอาจมองว่าคำแนะนำให้ดูแลตนเองเป็นเรื่องไม่จริงใจ หากพวกเขาเชื่อว่าความต้องการของงานหรือโครงสร้างการทำงานเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สุขภาพจิตของพวกเขาแย่ลง

  • การใช้งานต่ำ: แนวทางแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (EAPs) หรือเทคโนโลยีเชิงป้องกัน มักมีการใช้งานน้อย เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น การถูกตีตรา (stigma) เกี่ยวกับสุขภาพจิต บริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือโครงการที่ใช้เวลานาน หรือเข้าถึงยาก

  • ขาดประสิทธิผล: ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะระดับบุคคล เช่น การฝึกอบรมความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience training) การฝึกสติ และแอปพลิเคชันส่งเสริมสุขภาวะ ไม่ได้ช่วยเพิ่มสุขภาวะของพนักงานอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นเพราะพนักงานที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์มเหล่านี้มากกว่า

  • การขาดการสนับสนุนจากนายจ้าง: ผู้บริหารระดับสูงมักไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการส่งเสริมหรือติดตามผลลัพธ์ของโซลูชันด้านสุขภาวะ ทำให้องค์กรไม่สามารถปรับปรุงหรือแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการลงทุน

 

แนวทางปรับปรุงประสิทธิผลของโครงการส่งเสริมสุขภาวะ

  • สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร: การให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life balance) และความยืดหยุ่น สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ และส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ตัวอย่างเช่น การทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ สภาพแวดล้อมการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ (Results Only Work Environment - ROWE) และ "Focus Fridays" (วันศุกร์แห่งการโฟกัส – หมายถึงการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานในวันที่กำหนด เช่น วันศุกร์ ให้เอื้อต่อการที่พนักงานจะมีสมาธิในการทำงานที่สำคัญอย่างแท้จริง เช่น การงดประชุม หรืองดการสื่อสารที่ไม่จำเป็น เป็นต้น)

  • เปลี่ยนแปลงเชิงระบบโดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน: การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน การสื่อสารการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และการปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง และรายงานอย่างโปร่งใส สามารถส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต

  • พัฒนาเครือข่ายผู้สนับสนุนสุขภาวะของพนักงาน (Employee Well-being Champion Networks): เครือข่ายเหล่านี้ประกอบด้วยพนักงานอาสาสมัครที่สนับสนุนทีม และให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ, ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน, และช่วยป้องกันภาวะหมดไฟ

  • พัฒนาผู้นำในองค์กร: การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการบุคลากรของผู้จัดการ สามารถลดอัตราการลาออกได้อย่างมาก องค์กรสามารถบูรณาการการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตเข้ากับโปรแกรมพัฒนาภาวะผู้นำ

  • สร้างความรับผิดชอบผ่านมาตรฐานสากล: สุขภาวะของพนักงานควรเป็นส่วนสำคัญของการบริหารความเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคล (human capital risk) ภายใต้กรอบ ESG (Environment, Social, Governance) การปฏิบัติตามมาตรฐาน เช่น ISO 45003 สามารถช่วยให้องค์กรจัดการความเสี่ยงด้านจิตสังคม (psychosocial risks) ได้อย่างเป็นระบบ



โดยสรุปแล้ว โครงการส่งเสริมสุขภาวะในที่ทำงานมักให้ผลลัพธ์ต่ำกว่าที่คาดหวัง เนื่องจากเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาระดับบุคคล ซึ่งละเลยปัญหาระดับระบบที่เป็นต้นตอ แนวทางการแก้ปัญหาระดับบุคคลเหล่านี้มักมองข้ามสาเหตุที่แท้จริงของสุขภาวะที่ไม่ดี อาจถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่จริงใจ มีอัตราการมีส่วนร่วมต่ำ ขาดประสิทธิผล และมักขาดการสนับสนุนจากนายจ้าง

 

เพื่อให้องค์กรสามารถส่งเสริมสุขภาวะของพนักงานได้จริง และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีขึ้น องค์กรควรเปลี่ยนไปใช้แนวทางแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน พัฒนาเครือข่ายผู้สนับสนุนสุขภาวะของพนักงาน เตรียมความพร้อมให้ผู้นำสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงองค์กร และสร้างความรับผิดชอบผ่านมาตรฐานสากล

 

การจัดการกับปัญหาเชิงระบบและส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในทุกระดับ จะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนและดึงดูดพนักงานได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความพึงพอใจของพนักงานที่เพิ่มขึ้น และผลลัพธ์ขององค์กรที่ดีขึ้น


 

บริการของเรา


โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Program หรือ EAP) คือกลไกสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงานในองค์กร เราเชื่อว่าพนักงานที่มีสุขภาพจิตที่ดี คือรากฐานสำคัญขององค์กรที่เข้มแข็งและประสบความสำเร็จ


โปรแกรมของเราจึงมุ่งเน้นการให้การสนับสนุนที่ครอบคลุม ทั้งการป้องกัน การเยียวยา และการส่งเสริมศักยภาพ เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราตั้งใจให้บริการของเข้าถึงง่ายผ่านช่องทางที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและการรักษาความลับ เราให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรที่พนักงานรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะขอรับความช่วยเหลือ เราทำงานร่วมกับองค์กรอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจถึงความต้องการและบริบทเฉพาะของแต่ละองค์กร เพื่อออกแบบโปรแกรมที่ตอบโจทย์และเหมาะสมที่สุด


โปรแกรมของเราครอบคลุมบริการที่หลากหลาย เช่น การปรึกษาเชิงจิตวิทยา การประเมินสุขภาวะทางจิตใจ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การบรรยายให้ความรู้ ที่ปรึกษาด้านการดูแลสุขภาวะของพนักงาน รวมถึงการสนับสนุนอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี ลดความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เกื้อกูลกัน


เรามุ่งหวังที่จะเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจได้ขององค์กรในการดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะของพนักงาน เพื่อสร้างองค์กรที่มีความสุขและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน


 

ธารีวรรณ เทียมเมฆ
นักจิตวิทยาการปรึกษา

โนอิ้งมายด์เซ็นเตอร์
ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและการส่งเสริมสุขภาวะ

โปรแกรมดูแลช่วยเหลือพนักงาน
ติดต่อขอรายละเอียดที่ 0654154417

©2017 KNOWING MIND CENTER

bottom of page